home register login webboard classified artist review article member


19027

  Artist :     สัมภาษณ์ พี่เล็ก ทีโบน   16 มี.ค. 51    


DT : พี่เริ่มตีกลองได้ยังไงครับ ?
พี่เล็ก : อืม.. เอาอย่างนี้ดีกว่า ช่วงแรกของการเล่นดนตรีเนี่ยะ ไม่ได้ตั้งใจเลยที่จะเล่น ตอนนั้นพี่ก็เรียนหนังสืออยู่ แล้วพี่ชายก็เล่นดนตรีอยู่ที่อุดร แกก็เล่นอยู่ในไนท์คลับ เล่นพวกเพลงจังหวะบอลลูม,ละติน ให้แขกเขามาเต้นรำกัน ก็เป็นพวกลีลาศด้วย บังเอิญช่วงนั้นมันเป็นช่วงสงกรานต์ ก็ปิดเทอมพอดี ผมก็เลยไปเที่ยว

พี่ที่อุดร ช่วงนั้นผมก็จำไม่ได้นะว่ามันปีอะไร แล้วช่วงนั้นวงของพี่ชายเขาก็กำลังจะย้ายที่เล่น จากไนท์คลับนึงไปอีกที่นึง แล้วบังเอิญว่านักร้องในวงเขาก็โดนรถชน แต่ไม่ตายนะ แต่ก็สติไม่ค่อยดี คือทำอะไรไม่ได้เลย เหมือนแบบเด็กปัญญาอ่อนเลยนะ แต่วงก็เซ็นต์สัญญากับร้านไว้แล้ว คนในวงก็ต้องครบ 9 คน ก็มีลักษณะคล้ายวงคอมโบ้ หรือว่า บิ๊กแบนด์ เขาก็เลยให้หาคนที่เล่นทรอมโบนมาเล่น แล้วบังเอิญเราก็ไปพอดี แล้วเราไปถึง ก็มีคำถามจากพี่ชายเลยว่า “เล็ก อยากเล่นดนตรีไหม” เราก็ยังไม่ได้อยากเล่นนะ แต่เขาบอกมาคำนึงว่า เฮ้ย! เล่นดนตรีดีกว่า ได้ตังค์ เนี่ยะเลยแหละ ไอ้คำนี้ (หัวเราะ) ก็เลยลองดู แต่ยังไม่รู้นะว่าเขาจะให้ทำอะไร แกก็ให้เรามาเป่าทรอมโบน เราก็ยังงงๆเลยนะ ไม่เคยรู้เรื่องเลยแม้แต่น้อย มันหน้าตาเป็นยังไงวะ (หัวเราะ) จะเล่นเป็นก็คือกีต้าร์ โปร่ง แต่ก็เล่นแบบสนุกๆนะ ก็เลยบอกเขาว่าไหนเอามาดูดิ หน้าเป็นยังไง แกก็เข้าไปในห้องหยิบทรอมโบนออกมาให้เราดู แล้วเราเห็นปุ๊ปนะ เราโคตรเกลียดเลย (หัวเราะ) คือรูปร่างมันไม่สวยเลย แกก็เลยให้เราอยู่เล่นก่อน เดี๋ยวจะไปบอกแม่ให้ ให้เราช่วยก่อน ตอนนั้นแหละที่เป็นจุดเริ่มแรกที่เล่นดนตรี ช่วงนั้นมันก็ปิดเทอมแค่เพียง เดือนเดียวได้ สมัยนั้นปิดเทอมมันจะไม่ได้ยาวเหมือนกับสมัยนี้ เพราะฉะนั้นผมมีเวลาแค่ 28 วันเท่านั้นที่จะฝึกไอ้เจ้าทรอมโบนเนี่ยะ ต้องฝึกตำแหน่งในการชักว่าโด เร มี อยู่ตรงไหน ฝึกอ่านโน็ตสากลด้วย พวกบรรทัด 5 เส้น มันมีตัวอะไรบ้าง รวมถึงสัดส่วนของโน๊ตด้วย ทั้งหมดนั้นแค่ 28 วันเองนะ (หัวเราะ) ทั้งหมดนั้นก็ลองดู เพราะได้ตังค์ ที่นี้พี่ชายที่ชื่อ พี่ซา แกเล่นเบส แกก็จะเป็นคนสอนให้ผมอ่านโน๊ต ว่าโน๊ต 5 เส้นของมัน ก็คือ กุญแจฟา ตอนเช้าตื่นมา ก็ซ้อมทุกวัน แล้วพี่ชายอีกคน ที่เป็นพ่อของ แซ็ก วง ไอ แซ็ก แกจะเป็นคนสอนโพสิชั่นในการชัก การวางรูปปาก ผมก็โดนรุมตลอดเลย ตั้งแต่เช้ายันเย็น (หัวเราะ) ตารางซ้อม เช้าก็คือ อ่านโน็ต เคาะเล่นตามสัดส่วน พอไม่ถูก มันก็ด่า (หัวเราะ) พอบ่ายมา พี่ชายอีกคนตื่น เราก็ต้องไปเป่า โห!! แล้วบอกได้เลยนะ ว่า ทรอมโบนเนี่ยะ มันโคตรยากเลย ยากมากๆ หลังจากนั้น ไอ้สิ่งที่เราไม่ชอบ มันกลายเป็นสิ่งที่เราคุ้นหู เพราะเราต้องเล่นทุกวัน เออ!! มันก็เพราะดี สมัยนั้นวงอย่าง Chicago ,Blood Sweat &Tear อะไรพวกนี้ ก็เป็นวงที่มีเครื่องเป่า แล้วเขาก็ให้เราฟัง จุดนี้เราก็เลยเล่นดนตรีแบบจริงจัง มาตั้งแต่ตอนนั้น ก็คือปี 2521 อายุประมาณ 16 –17 น่าจะได้ ทรอมโบนเป็นเครื่องแรกที่เล่น ก็เริ่มเล่นที่ Holiday Night Club ที่จังหวัดอุดร จนถึงปี 25 ก็ย้ายไปภูเก็ต เพราะมันหมดสัญญา ก่อนจะมาเล่นกลองเราก็ไม่เคยสนใจ กลองเลยนะ แต่ ตอนเล่นกลางคืน เราเล่นกันยาว แล้วมือกลองเขาต้องเข้าห้องน้ำ เขาก็บอก ให้เรามาตีแทนหน่อย ไอ้เราก็ตีได้อยู่จังหวะเดียวเลยนะ คือจังหวะ “รำวง” พอดีช่วงเปลี่ยนไนท์คลับ เปลี่ยนที่เล่น แล้วมือกลองคนนี้เขาไปด้วยไม่ได้ ก็หาคนอื่นมาเล่น คนแรกมา ก็อยู่ได้ประมาณ 1 เดือนก็ออก คนที่สองมาก็อยู่ได้ เดือน 2 เดือนก็ต้องออกอีก ที่นี้ เราก็มานั่งคิดว่า พี่ชายเราก็เล่นเบส แล้วทำไมเราไม่ไปตีกลองวะ จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนใคร แล้วริทึ่มมันจะได้อยู่ ก็เลยเริ่มฝึกกลอง ก็ฝึกด้วยความที่มือกลองลาออกบ่อย (หัวเราะ) ไม่ได้ชอบเลย

DT : ช่วงที่พี่หันมาตีกลอง พี่อายุเท่าไหร่ครับ ?
พี่เล็ก : ช่วงนั้นประมาณ 21-22 น่าจะได้นะ พอเขาจะออกเราก็ยุ่งเลย ทำไงดีวะ!! คือต้องทำทุกอย่าง อย่างรวดเร็วอีกแล้ว พี่ก็คิดนะ เอาอีกแล้วกู !! ก็ต้องใช้เวลาสั้นมากอีก ก็ประมาณ 1 เดือนเอง พี่ก็ใช้วิธีนี้เลย ก็ให้ป้าที่เขามาเฝ้าคลับตอนกลางคืน ให้แกไปพักเลย แล้วค่อยมาตอน 6 โมงเช้า คือบาร์จะเลิกตอนเที่ยงคืน พี่ก็ออกไปทานข้าวทานอะไรเสร็จ แล้วพี่นี่แหละก็จะเป็นคนมาเฝ้าบาร์ให้แกจนถึง 6 โมงเช้า ก็ตอนนั้นแหละที่พี่จะมาฝึกกลอง คือพี่ก็จะมานั่งฝึกตีจังหวะพวกเพลงเต้นรำ และเป็นเพลงที่เล่นกันอยู่ให้ได้ก่อน ก็ประมาณเดือนนึงเราก็เริ่มคุ้นกับจังหวะพวก Tango ,Lumbar, Begin,Sanba อะไรพวกนี้ เราก็เริ่มคุ้นกับมัน การเล่นไนท์คลับเนี่ยะมันก็จะมีโน๊ตอยู่ปึ้งนึง คืนนึงก็จะเล่นอยู่ประมาณซัก 40-50 เพลง แล้วไอ้โน๊ตเพลงพวกนี้ก็จะวางอยู่ข้างๆเรา แล้วเราก็จะเล่นต่อเพลงไปเรื่อยๆ จะไม่มีโอกาสที่ได้มานั่งอ่านโน๊ตก่อน ก็มันจะเป็นเหมือน sight read เลยนะ เราก็เอาโน๊ตพวกนี้แหละมาซ้อม นั้นก็เพื่อที่ว่าพอพี่เขาออกไปเราก็จะได้เข้ามาเล่นได้เลย ก็ซ้อมเดือนนึงกับเฝ้าบาร์แทนป้าเขา ตั้งแต่ตี 1 – 6 โมงเช้า ป้าเขาก็จะมา พี่ก็จะกลับบ้านนอน แล้วพอเราหันมาตีกลองปุ๊ป ก็เป็นหนี้เลย (หัวเราะ) เพราะมือกลองเขาไม่เอากลองไป เขาขายต่อเราเลย (หัวเราะ) แต่ก็ดีนะ ตีกลองแบบจริงๆจังๆ ครั้งแรกที่ไนท์คลับชื่อ “หงษ์ทองไนท์คลับ” อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต

DT : ช่วงเวลานั้น นอกจากการ sight read แล้ว พี่มีวิธีฝึกเรื่องของเทคนิคอื่นๆหรือเปล่าครับ ?
พี่เล็ก : ณ ตอนนั้นพี่เอง ยังไม่รู้จักนะคำว่าเทคนิค คือรู้แต่ว่า “จะตียังไงให้หนัก ตียังไงให้เร็ว ตียังไงให้ดัง ไม่รู้จักคำว่าตีให้ซอฟต์ (soft) ไม่รู้จักว่าตีให้เพราะเป็นยังไง ตีให้ได้สำเนียงเป็นยังไง “ สิ่งที่ต้องทำได้คือ ต้องตีให้ดังนะ timing ต้องคงที่ เพราะคนจะต้องเต้นรำ จะมาช้าเร็ว ไม่ได้ แล้วสมัยนั้นเนี่ยะ metronome หาซื้อยากมากๆ เราจะต้องใช้วิธีซ้อมกับเพลงอะไรซักอย่างนึง แล้วเราก็จะใช้วิธีฟังเพลง

DT : คือคล้ายกับว่าเปิดเพลงไปแล้วเราก็ตีตาม ?
พี่เล็ก : ใช่ !! คือไม่ว่าเราจะเปิดเพลงอะไรก็ตาม แต่เราต้องฝึกตีจังหวะที่เราจะใช้เล่น แล้วก็ด้วยความโง่ ที่ไม่รู้จะไปสั่งที่ใคร ตรงไหน ก็ต้องมาใช้วิธีแบบนี้ เสร็จแล้วมันก็ไม่มีอะไรนะ ก็ใช้เวลาอยู่ประมาณ 4 –5 ปีได้ ถึงเริ่มจะหันมามองตัวเองว่า “ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาเนี่ยะ เราตีกลองมา มันก็ไม่เห็นมีอะไรดีเลย ” คือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ทุกอย่างเหมือนเดิมหมด ตีเพลงเดียวกันทุกวัน โน๊ตมายังไงก็ตีแบบนั้นเลย แล้วก็เล่นมันทุกวันๆ เล่นแบบนั้นมา 5 ปี แล้วก็มีรุ่นพี่หลายๆคน เขาก็มาบอกว่า ตีกลองไม่เพราะ ตีไม่มีสำเนียง มันก็เลยทำให้เรามาคิดว่า เอ๊ะ!! ไอ้การตีให้มันมีสำเนียงมันเป็นยังไงวะ นี่แหละ !! พวกนี้มันเป็นการบ้านที่หนักมาก แล้วมันเป็นเรื่องเครียด เพราะฝรั่งเขาก็ไม่ได้เล่นจังหวะเต้นรำอย่างที่เราเล่น แล้วเราก็ไม่ได้เล่นเพลงอย่างที่ฝรั่งเขาเล่นมาก แต่ว่าช่วงนั้นเนี่ยะที่เข้ามาตีกลอง พี่ก็จะเริ่มฟังเพลงแจ๊ส เริ่มฟัง Chick Corea ฟัง Mahavishanu Orchestra ก็ฟังอะไรแบบนี้ แต่ก็ยังไม่เข้าใจนะว่ามันคืออะไร แต่ชอบ เพราะมันตีบู๊ดี เจ๋ง มันส์!! มีอะไรเยอะมาก แต่ด้วยความว่า สมัยก่อนมันเป็นแผ่นเสียงเราก็ได้แต่ฟัง แต่จะไม่เห็นภาพเลยนะว่ามันตียังไง อย่างเช่น เขาเล่น double stork เราก็นึกว่าเขาเล่น single stork เราก็มาพยายามตีให้มันเร็วแบบเขา (หัวเราะ) มันก็ตีไม่ได้ซักที เพราะมันเร็วมาก ก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน เราก็มาคุยกันกับพี่ๆ ตอนนั้นแมวยังไม่ได้มาเล่นดนตรี เราก็มานั่งคุยกันว่า เราจะทำยังไงให้ เราได้เล่นไอ้เพลงแจ๊สพวกนี้ในไนท์คลับที่เราเล่นอยู่ แล้วทำยังไงให้เรารู้ว่าเราเล่นแล้วมันมีสำเนียงไหม แล้วมันเป็นยังไง แล้วก็ไอ้คำว่า “ตีให้มันเพราะ มันเป็นยังไง” ก็นั่งคุยกันสองคนพี่น้อง มีผมกับพี่ซาที่เล่นเบส เราก็มานั่งวิเคราะห์กัน พอไปถามคนอื่น เขาก็บอกไม่รู้ เขาก็บอก กูก็เล่นไปอย่างที่กูเล่นได้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากบอกนะ แต่เขาก็ไม่รู้ว่าจะบอกยังไง แต่ส่วนหนึ่งเราก็ฟังเพลงมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็เกิดการเปรียบเทียบระหว่างวงต่างๆ ทำไมฝรั่งมันมีเล่นตรงนั้นดัง ตรงนี้มันเบาลง เราก็เริ่มเข้าใจคำว่า “ไดนามิกส์” ของเพลง ในเพลงแต่ละเพลงมันก็จะมีไดนามิกส์สำหรับ อินโทร สำหรับเข้าท่อน A พอเข้าท่อน B มันจะต้องมีตรงไหนเปลี่ยนแปลงสำหรับการเล่น เราก็เริ่มเข้าใจนะ แต่ก็ยังไม่เก็ตอยู่ดีว่ามันจะเล่นยังไง เรามองไม่เห็นภาพมันซักที จนกระทั่งเอาเพลงของ Stanley Clark มา คือพี่ชาย พี่ซาเนี่ยะ แกเล่นเบส แล้วแกก็ชอบ Stanley Clark เราก็เอาเพลงของเขามาเล่น ชื่อเพลงว่า Jamaican Boy แล้วไอ้เพลงนี้รู้สึกว่า Steve Gadd จะเป็นคนตีกลอง แต่ผมก็ไม่สนใจหรอกนะ ว่าจะ Gadd หรือใครตี คือเพลงมันมายังไงก็ตียังนั้น ต้องตีให้เหมือนก่อน ให้เสียงมันเหมือนก่อน

DT : ทั้งหมดนั้นก็คือมาจากการแกะล้วนๆเลย ?
พี่เล็ก : ใช่ครับ !! จากการแกะและการฟัง พอเราเริ่มฟัง มากขึ้น ความเข้าใจเราก็เพิ่มขึ้น ที่นี้การตีสไตล์ Ballroom หรือ Latin ก็เริ่มเปลี่ยนไป มันเริ่มมีไดนามิกส์ในการเล่น มันเปลี่ยนไปเองของสัญชาตญาณของสองพี่น้อง ที่เล่นด้วยกัน พอเพลงเริ่มอินโทรปุ๊บ แล้วเข้าท่อน เราก็เบาลง แล้วมันก็เป็นธรรมดาของวง พอเขาได้ยิน 2 ชิ้นนี้เบาลงเขาก็เบาตาม มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า อ๋อ!! นี่เองมันคือได้นามิกส์

DT : แล้วกับเพลงสไตล์พวกนี้ ไม่ว่าจะเป็น แจ๊ส,บอลลูมหรือว่า ละติน พอมาเล่นมากๆเข้าในตอนนั้นรู้สึกถึงความเป็น ทูโฟร์ หรือเปล่าครับ ?
พี่เล็ก : อ๋อ!! ตอนนั้นไม่รู้เรื่องเลยครับ ไม่รู้ด้วยว่าทูโฟร์มันคืออะไร ไม่รู้เลยว่าวิธีการเล่นและยึดจังหวะนี้ให้เล่นต่อไปเรื่อยๆ หรือว่าการเล่นแบบ back beat มันเป็นยังไง ไม่เข้าใจเหมือนกันนะ ว่าจะทำยังไงให้มันเล่นแล้วมันรู้สึกว่าโยน เป็นยังไง แต่ด้วยความที่พวกเราฟังมาก จนเรารู้สึกว่าเราจะต้องปรับกลองของเรา ให้เหมือนเพลงที่อยู่ในเทป มันก็เลยทำให้ผมรู้สึกว่าเข้าใจในการปรับ คือปรับตัวกลอง ปรับหนังกลองยังไงจะให้มันเหมือน แต่ ณ ตอนนั้นนะ เราไม่เคยรู้เลยว่า ก่อนมันจะออกมาให้เราฟัง มันมีการ mix down มันมีการทำ mastering มันมีการปรับแต่งเสียง แล้วผมก็ไม่เข้าใจตรงนี้เลย แต่รู้อย่างเดียวว่าต้องปรับเสียงให้เหมือนมัน และมันก็ทำได้จริงๆด้วย (หัวเราะ) มันก็แปลกๆนะ ทุกอย่างเรารู้มาโดยบังเอิญ

DT : มันก็เลยได้เรื่องของสำเนียงตามมาด้วย ?
พี่เล็ก : ใช่ครับ ได้ตรงนั้นเข้ามา แต่.. พอเราเล่นเพลงแจ๊สมากขึ้น เราเริ่มเล่น Spyro Gyra ,Chick Corea อะไรอย่างนี้ ก็เริ่มเล่นเพลงแจ๊สแต่ก็ไม่ได้มีโอกาสเล่นทั้งคืนนะ ก็ได้เล่นไม่กี่เพลงนะ

DT : ก็คือเอามาผสมกับเพลงที่เล่นประจำอยู่ ?
พี่เล็ก : ก็เล่นแค่ 2 เพลงบรรเลง เหมือนใช้เป็นเพลงเปิดวงเฉยๆ ก็มีเล่น James Last ที่เป็นบิ๊กแบนด์ แต่พอช่วงดึกๆก็จะเป็นเพลงโจ๊ะๆ เราก็มีโอกาสได้เล่น The Commodores , Kool&The Gang ได้เล่นอะไรที่มันเป็นโซล สมัยนั้นมันเป็นยุคของ โซลดิสโก้ ก็เล่นได้ไม่กี่เพลงนอกนั้นก็ต้องกลับมาเล่นเหมือนเดิม ก็เล่นอย่างนี้ จะเล่นกี่ทีไอ้เรื่องของ ทูโฟร์ ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ไอ้ที่ฝึกก็คือพยายามฝึกเบสดรัม ฝึกพวกสองกระเดื่อง อะไรอย่างนี้ ฝึกให้เร็วขึ้น (หัวเราะ) ทั้งๆที่มาเล่นแจ๊สนะ แต่ยังไม่รู้สึกว่าชอบเลย ส่วนไอ้ที่เล่นสองกระเดื่องเนี่ยะ ฝึกมาเพื่อปั่นอย่างเดียว เล่นแล้วมันส์ เพราะเราดูหลายๆคนมา อย่าง พี่มันต์ เอกมันต์ อย่างเนี่ยะ

DT : ยุคชาวร็อกกำลังมาแรง ?
พี่เล็ก : ใช่ครับ (หัวเราะ) สมัยนั้นพี่อยู่ นครพนม พี่มันต์ก็เล่นอยู่ V.I.P อะไรอย่างนี่ พี่มันต์เนี่ยะเป็นมือกลองคนไทย คนแรกเลยนะที่ผมได้ไปดู ไอ้สองกระเดื่องเนี่ยะเจ๋งมาก ผมก็อยากเป็นเหมือนแกมากๆ แต่พี่ก็ฝึกปั่นสองกระเดื่องไปเรื่อยๆเลยนะ หลายปีมาก (หัวเราะ) เราก็ยังหาจุดพอดีของตัวเองยังไม่ได้ ไอ้คำว่า “จุดพอดีของตัวเอง” คือ ไอ้พวกนี้ที่เราฝึกมา มันจะเอาไปใช้ยังไงกับสิ่งที่เราเล่นอยู่ในแต่ละคืน แล้วเราก็ไม่ได้เล่นไม่ได้ใช้มันเลย

DT : แต่ก็ขอให้เล่นได้ก่อน ?
พี่เล็ก : อืม.. แค่นั้นเลย ก็เล่นไปเรื่อยๆจนแมวมาเล่นด้วย แมวมาเล่นกีต้าร์ แมวก็เข้ามาเล่นแบบผมเหมือนกัน ประมาณไปเที่ยวหาพี่ ก็โดนจับยัดมาเล่นเหมือนกันเลย จนกระทั่งมีอยู่ช่วงนึง เราก็แยกวงกัน แยกวงบิ๊กแบนด์เนี่ยะ เราก็มาทำวงเล็ก เป็นวง 4 ชิ้น ก็เล่นตามคลับเล่นที่ The Palace อะไรอย่างนี้ ก็เริ่มได้เล่นอะไรที่เราอยากเล่นมากขึ้นๆ ได้เล่นแจ๊ส ได้เล่นฟิวชั่น แต่ว่าเรื่องของเทคนิคการเล่นผมก็ยังไม่ได้เท่าไหร่นะ รวมถึงไอ้วิธีการเล่นกระเดื่องด้วย จนมีครั้งนึงเราก็ไปเล่นอยู่โรงแรม แล้วช่วงกลางวันเราก็จะซ้อมกัน ก็ซ้อมกันระหว่างผมกับพี่ซา คือช่วงกลางวันผมก็จะซ้อมกัน แล้วเราก็จะทำอย่างนี้ทุกวันเลยนะ แล้ววันนึงมันก็มีแขกมาพัก เป็นชาวต่างชาติ มันก็มาเห็นผมซ้อมกัน มันมากัน 2 คน คนนึงเป็นมือกีต้าร์มันก็เดินมาขอแจมด้วย แมวก็ให้กีต้าร์มันแจม ส่วนอีกคนก็เป็นคนเต้นแท็ปแดนส์ ก็มาแจมด้วย มันก็มาขอลองตีกลองเราก็ให้มัน ปรากฎว่ามันตีออกมาใช่เลย เราก็ดูวิธีที่มันเหยียบกระเดื่อง มันใช้วิธีเดียวกับที่มันเต้นเลย เราก็มาลองบ้าง ปรากฎว่ามันก็ได้จริงๆ (หัวเราะ) ต้องขอขอบคุณมันเลยนะ ที่ทำให้เราเหยียบกระเดื่องแบบสไลด์ได้ มันเป็นความบังเอิญมากๆ

DT : แล้วหลังจากที่พี่เล่นฟิวชั่น เล่นอะไรอย่างนี้มาเรื่อยๆ พี่เข้ามาเล่นแจ๊สแตนดาร์ดได้ยังไงครับ ?
พี่เล็ก :เลยครับ ไอ้วงนี้เลยครับ วงอานนท์เนี่ยะเลยครับ

DT : อานนท์แจ๊สแบนด์ ?
พี่เล็ก : ใช่!! ตอนนั้นน้อยเปิดโรงเรียน แล้วแกก็มาชวนผมไปสอน ผมก็สอนในส่วนที่เป็นเบสิค มือเท้า แล้วผมก็เรียนรู้ความเป็นสแตนดาร์ดจากน้อยอีกที จากการพูดคุย คือพอเราพักเบรคจากการสอน เราก็มานั่งคุยกัน เขาก็จะนั่งพูดไปเรื่อยๆ เหมือนเขาสอนเราครับ เปิดวิดีโอดู แล้วเขาก็เปรียบเทียบคนนั้นคนนี้ให้เราฟัง แล้วช่วงนั้นน้อยเขาก็มาเล่นที่แซ็กโซโฟน มือกลองคนแรกชื่อน้อง ชื่อจริงพรชัย ก็เป็นเพื่อนๆกัน เขาก็มาเล่น เขาก็เล่นมาเกือบปีนะ แล้วเขาก็ออก แต่ไม่ใช่ว่าเขาออกเพราะเล่นไม่ได้นะ น้องเป็นคนที่เก่งมาก แต่เพราะมันเล่นไม่ไหว เพราะเพลงนึงมันนานมาก มันโซโล่กันยาวมาก (หัวเราะ) แล้วพอมันเจอเพลงพวกที่เป็นแซมบ้า เนี่ยะมันเอาไม่อยู่ เพราะว่ามันตัวเล็ก แรงมันน้อย มันก็บอก เฮ้ยๆ !! มาแทนกูหน่อยเถอะวะ มันเล่นกันยาวมาก โซโล่กันยาวฉิบหาย (หัวเราะ) นั่นแหละคือเหตุผลของมัน ผมก็เลยเข้ามาเล่นกับอ.อานน์ที่นี่ แรกๆมาเล่นก็รู้สึกนะ ว่าตัวเองไม่ใช่ แต่ที่นี้พอเรารู้ตัวว่าไม่ใช่ แล้วเราจะเรียนรู้จากอะไร มันก็มีคำอยู่ 3 คำคือ “ฟัง,ฝึก,เล่น” น้อยมักจะบอกผมอยู่เสมอว่า ฟังมากๆ ฝึกมากๆ และก็ต้องเล่นด้วย ซึ่งมันเป็นวิธีที่ผมทำมาตลอดเลย และมันก็ทำให้ผมเก็ตกับคำว่า ทูโฟร์ ว่าเล่น Push ยังไง เล่นให้ตรงเล่นยังไง เล่นให้มัน Lay Back เล่นยังไง อ.อานนท์อธิบายให้ผมฟังว่า วิธีฟังเมโทรนอม ควรฟังให้ได้ 3 อย่างคือ 1.ฟังให้ได้ยิน คือเล่นก่อนที่เสียงเมโทรนอมจะดังนิดนึง มันจะเสี้ยวเดียวจริงๆ 2. คือเล่นให้ตรงกับเมทรอนอม การเล่นให้ตรงคือ ถ้าเราเล่นจนไม่ได้ยินเสียงเมทรอนอมนั่นคือเราเล่นตรงแล้ว 3.คือเล่นหางเสียงเมทรอนอม พวกนี้คือที่เขาบอก

DT : การที่ต้องเล่นทั้งร็อก ทั้งแจ๊ส มือกลองหลายๆคนมีปัญหาเรื่องของการนับจังหวะที่ต่างกัน และฟิลการเล่นที่ไม่เหมือนกัน ?
พี่เล็ก : (หัวเราะ) ไม่ต้องใครเลย ผมนี่แหละ!! มันมีตอนนึง ผมเล่นกับอ.น้อย แล้วแมวก็ออกอัลบั้ม ผมก็ต้องไปเล่นร็อกกับแมว แล้วมันก็เป็นช่วงชีวิตนึงของผมที่ปวดหัวมาก (หัวเราะ) คือเป็นเล่นร็อกก็ไม่ใช่ มันเหมือนเป็นดนตรีฮาร์ดคอร์ เป็นนั้น เราไม่เข้าใจวัฒนธรรมของมัน

DT : ตอนนั้นพี่แมวออกชุดที่เท่าไหร่ครับ ?
พี่เล็ก : รู้สึกว่าเป็นชุดที่ 2 นะ ชุด Get Up Higher ก่อนที่จะเป็น Burn ที่มันทำหัวทองๆ ผมก็คิดนะ ต้องไปเล่นร็อก แล้วร็อกเลยหรือเปล่ามันก็ไม่ใช่ แล้วจะทำยังไงดีวะ ก็ต้องไปค้นหาอีกว่าไอ้วิธีการเล่นดนตรีแบบนี้ มันคืออะไร ไม่ใช่ว่าจับไม้ขึ้นมาแล้วจะเล่นได้เลยนะ คือต้องรู้ก่อนว่าไอ้วัฒนธรรมของไอ้ดนตรีอย่างนี้เนี่ยะมันคืออะไร มันใช้อะไรเป็นตัวแปรความรู้สึกของกลอง มันเลยทำให้ผมต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้น แล้วเราก็ต้องทำมัน พอซ้อมกับแมวเสร็จปุ๊ป !! ก็มาเล่นกับอานนท์ โอโห้ !! โดนด่าทั้งคืน (หัวเราะ) น้อยมันก็หันมา ด่าเลย พี่เป็นเหี้ยอะไรเนี่ยะ !! ตีดังฉิบหาย พี่ก็บอกมันว่า กูกำลังปรับประสาทอยู่ โห !! เป็นอย่างงี้เป็นเดือนเลย (หัวเราะ) นานเลยกว่าจะปรับได้ กว่าจะเอาอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ชินแล้ว ปรับได้ เวลากลับมาต้องปรับน้ำหนักมือ พอมาเล่นแบบนี้เราจะต้องผ่อนน้ำหนักลงมาอย่างละครึ่งๆเลยครับ การวางไม้ จะต้องจับไม้แน่นหรือไม่แน่น ความรู้สึกเปลี่ยน วิธีการนั่งเปลี่ยน มันต้องเปลี่ยนหมดเลย ผมก็โดนแล้ว ร็อกแล้วมาแจ็ส เล่นดึกมาเป็นเร็กเก้ ผมโดนมาหมดแล้ว (หัวเราะ) แต่ก็มันส์ดีนะ

DT : แล้วพี่เข้ามาร่วมเล่นกับ T-Bone ได้ยังไงครับ ?
พี่เล็ก : พี่เข้ามาเล่นกับ T-Bone ก่อนที่จะไปเล่นกับอ.น้อยอีก

DT : พี่เข้ามาเล่นชุดที่ 3 ชุด เล็ก ชิ้น สด ?
พี่เล็ก : ใช่ๆ!!มันอยู่ในช่วงระหว่างที่อ.น้อย ทำวงเล่นที่ Sax ผมก็เข้าไปเล่นกับ T-Bone แล้ว ช่วงนั้น ก็เป็นช่วงท้าทายเหมือนกัน คือพี่ซาเขาไปเล่นกับ T-Bone ก่อน แล้วมือกลองเขาก็กำลังจะออก แกก็ชวนผมไปเล่น ผมก็ไม่รู้เรื่องเลย ไอ้เร็กเก้เนี่ยะ แก็ปมันก็ชวนนะ พี่เล็กมาเล่นกับผมไหม ผมก็ตอบไปนะว่าผมเล่นไม่เป็น คือมันไม่รู้เรื่องเลย ดนตรีบ้าอะไรก็ไม่รู้ 1 ก็ไม่มี ไปเล่นก็อายเขา พอคิดไปคิดมา ไหนๆเราก็เรียนรู้มาหลายอย่างแล้ว ก็เอาวะลองดู อีกซักอย่างก็ไม่เห็นเป็นไร ก็ลองเล่นดู พอไปเล่นแรกๆก็ไม่ใช่ ตีแพทเทิร์นมันได้ แต่ความรู้สึกมันไม่ได้

DT : คือการตีให้มันโยนใช่ไหมครับ ?
พี่เล็ก : ใช่ครับ!! ตีให้โยนมันไม่ได้ เหมือนกับเขียนหนังสือได้เท่านั้นเอง แต่มันไม่สวย เหมือนผสมสีได้ แต่วาดออกมาแล้วมันไม่ได้เป็นรูป ก็เลยทำให้ผมต้องมาศึกษาจากแก็ปกับกอล์ฟ จากคนที่รู้มากกว่า ผมก็มีคำถามว่า ดนตรีประเภทนี้มันคืออะไร มันนับยังไง แต่ด้วยไอ้สองคนนี้ มันก็เป็นคนที่อธิบายอะไรไม่ค่อยเป็น (หัวเราะ) แล้วกอล์ฟมันเล่าเรื่องนึงให้ผมฟังว่า เคยมีนักร้องผู้หญิงคนนึงที่เคยเป็นคอรัสให้กับ Bob Marley ชื่อว่า Babara ก็เคยมาแจมกับ T-Bone แล้ว ก็ได้ถาม Babara ว่า “Reggae มันคืออะไร ” แล้ว Babara ก็บอกว่า “มันเหมือนกับคนๆหนึ่งที่ขึ้นไปยืนอยู่บนทางลาด ที่เอียงลงมา แล้วยืนขึ้นแล้วล้มตัวลงมา แล้วก็ลุกขึ้นมายืน ให้เข้ากับจังหวะ” เขาอธิบายมาอย่างนั้น กอล์ฟก็มาเล่าให้ผมฟัง พี่ก็คิดในใจนะ ว่า โอ้โห!! แล้วมันจะไปเหวี่ยงตัวยังไงวะ (หัวเราะ) แล้วทำไมมันไม่บอกถึงวิธีการเล่น มันก็คงจะเหมือนกับอธิบายไม่ถูกว่าจะเล่นยังไง

DT : เหมือนมันอยู่ในสายเลือดของเขา ?
พี่เล็ก : ใช่ครับ!! เขาเติบโตมา มันก็มาแล้ว เขาเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็กๆ เหมือนผมที่เกิดมาก็ได้ยินเพลงลูกทุ่ง เล่นหมอลำ เล่นเพลงอีสาน คือผมเป็นคนอีสานไง คือเล่นหมอลำก็เล่นได้ ให้อัดหมอลำผมก็สบาย แล้วมันก็เป็นเรื่องบังเอิญอีก มีอยู่วันนึงผมก็ไปเติมน้ำมัน ปั้ม Esso ก็ไปเจอตุ๊กตาล้มลุกที่เป็นรูปเสือ ก็ด้วยความเมาเนี่ยะแหละ เพิ่งเลิกเล่นกับ T-Bone เลย (หัวเราะ) ด้วยความเมา ผมเจอตุ๊กตาผมก็เดินเข้าไปตีมันเลย แล้วมันก็เด้งขึ้นมา ผมก็ตบมันอีก มันก็เด้งอีก ผมก็คิดออกเลย อ๋อ!! หรือว่ามันเป็นแบบนี้วะ !! ไอ้ตุ๊กตาเนี่ยะแหละมันทำให้ผมเข้าใจถึงวิธีการเหวี่ยงของเร็กเก้ว่ามันเป็นยังไง ก็พอมาซ้อมกับวง ก็มาลองดูบ้าง ปรากฎว่าทุกคนบอกเลย เออ!! แบบนี้ใช่เลยพี่ เราก็อ๋อ!! เข้าใจแล้ว มันเป็นเรื่องของ Back Beat หรือว่า Lay Back แต่มันไม่ได้บอกเราว่ามันคือเรื่องของ Lay Back เขาก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายยังไง

DT : อาจจะเป็นเพราะว่าเรื่องของ rhythm และ harmony มันต่างกัน ?
พี่เล็ก : ใช่ครับ!! มันจะขัดกับแก๊ปนิดนึง มันจะต้องสวนกับเสียงกีต้าร์ แล้วมันต้องทำให้คงที่ตลอดด้วย มันเป็นเรื่องที่บังเอิญมาก (หัวเราะ) เพราะเมาเลย

DT : แล้วกับสกาหละครับ ?
พี่เล็ก : สกาเนี่ยะมันมาตอนที่เราน่าจะเล่นร่วมกับ Tokyo Ska ที่มาเล่นบ้านเรา วงก็คิดว่าเราน่าจะมีดนตรีจังหวะสนุกๆที่คนเต้นได้ เพราะจะว่าไปแล้ว เร็กเก้ของ T-bone ตอนนั้น มันก็แทบจะไม่มีอะไรสนุกให้คนเต้นได้ เลย ก็เลยคิดว่าเราน่าจะเอาดนตรีสกาเข้ามาบ้าง ส่วนเรื่องของจังหวะในการเล่นก็แทบไม่ต่างกันเลย สกามันก็คือเร็กเก้ที่เร็วขึ้นเท่านั้นเอง แต่ผมมักจะโดนถามว่า เร็กเก้มันคืออะไร สกามันคืออะไร และผมก็จะบอกว่า “เร็กเก้มันคือคนที่เดินไปเรื่อยๆ แต่ในขณะที่สกามันก็คือคนที่วิ่งไปเรื่อยๆ “

DT : ตรงจุดนี้พี่มีทริคอะไรที่จะแนะนำ สำหรับมือกลองหลายๆคนที่กำลังหัดตีจังหวะเหล่านี้ ?
พี่เล็ก : มันมีทริคอันนึงเลยนะ ที่ผมใช้อยู่ตลอดคือ “เล่นแล้วให้เรารู้สึกเหมือนกับกำลังเต้น” คือดนตรีทุกประเภทที่ผมเล่น ผมมีความรู้สึกว่า ผมเล่นแล้วผมรู้สึกว่าผมเต้นกับมันได้ แล้วมันจะเป็นวิธีที่ทำให้เรารู้ว่า เราเดินไปกับมันสม่ำเสมอหรือเปล่า

DT : มีสิ่งนึงที่หลายๆคนมักจะคิดว่า เร็กเก้ต้องเล่นจังหวะยก ?
พี่เล็ก : ไม่ใช่เลยครับ เร็กเก้เป็นตก แต่สกาเป็นยก คือเขาน่าจะเข้าใจสวนกัน คือกีต้าร์ที่ skang มันตก เขาไม่ได้ดีดขึ้นเลยนะ แต่สกาเนี่ยะมันจะ skang ขึ้น มันจะกลับกัน

DT : มันขึ้นอยู่กับว่าใครจะยึดอะไรเป็นหลัก ?
พี่เล็ก : ใช่ครับ!! แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณเล่น แล้วคุณรู้สึกว่าคุณเดิน คุณจะรู้เลยว่า เร็กเก้มันจะไม่ใช่ยก แต่มันเป็นตก

DT : ที่นี้ในเรื่องของงานเพลง กับเรื่องไลน์กลองหละครับ เอาของ T-Bone ก่อนก็ได้ครับ พี่มีแนวคิดไลน์ยังไงบ้างครับ ?
พี่เล็ก : ของ T-Bone ไลน์กลองไม่ซับซ้อนครับ กลองจะเป็นเรื่องรองมากกว่า ที่จะมาก่อนคือไลน์ของเบส คือเร็กเก้เนี่ยะ ถ้าเบสไม่มีเปลี่ยน ไม่มี lick ของมัน เนี่ยะนะ ทุกอย่างจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันจะเหมือนกันทุกเพลงเลย ผมว่าเบสมันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แล้วแก๊ปจะเป็นคนคิดเบสที่เป็นเร็กเก้ได้เก่งมาก เรื่องหลักจะเป็นเรื่องของเบส เรื่องอื่นแทบจะเป็นเรื่องรองหมดเลย ส่วนใหญ่แก๊ปจะเป็นคนคิด

DT : แล้วในส่วนงานห้องอัดหละครับ ?
พี่เล็ก : งานห้องอัดที่ร่วมทำมากที่สุดก็คงเป็นงานของแมว คือพี่จะต้องอัดก่อนแล้วก็ออกมาฟังว่าในท่อนของ A,B มันให้ความรู้สึกยังไง เช่นกลองท่อนนี้น่าจะสาดนิดนึง คือมันเหมือนเป็นการให้เรื่องของสำเนียงในแต่ละท่อนมากกว่า โดยเฉพาะพวกที่เป็น Hi-Hat และเสียงที่เป็นทองเหลือง ถ้าผมจะเลือกเสียงที่จะใช้กับเพลงร็อก ผมจะไม่เลือกเสียงของ ride ที่ออกมาเป็นเม็ดๆ มากๆ คือจะเลือกที่ตีแล้วมัน สาดๆ มันจะคุมเพลงได้มากกว่า

DT : เทคนิคนี้เหมาะกับร็อกอย่างเดียวเลยหรือเปล่าครับ ?
พี่เล็ก : ใช่ครับ เหมาะกับร็อก แต่ถ้าเป็นป็อปเนี่ยะ มันก็จะให้มีเสียงกิ้งๆ นิดนึง แต่จะแหลมและคมมากก็ไม่ได้ มันก็จะใสเกินไป มันไม่ใช่ ส่วนใหญ่ ride ที่จะเอาไปใช้ในห้องอัดเนี่ยะ จะเป็น K ธรรมดา ตีให้มันโฉ่งฉ่างๆ

DT : แล้วเรื่องของเทคนิค ความยากที่จะใส่ไปในเพลงหละครับ ?
พี่เล็ก : อันนั้นส่วนใหญ่แล้วมันจะเป็นการที่เกิดขึ้นมา ณ ตอนนั้น สำหรับผมนะ เวลาผมเล่น ผมอัดกับแมวนะ มันเปลี่ยนสิ่งที่เล่นเยอะมาก (หัวเราะ) แล้วมันก็บ่น พอผมเล่นไปปุ๊ป มันก็จะบอกดีวะ เปลี่ยนใหม่ๆ เอาแบบนี้ แล้วมันก็จะไปแก้ตามผม คือเขาจะไปทำส่วนมาง่ายๆ แต่ผมก็คิดว่าส่วนมันน่าเป็นอีกอย่าง แต่มันก็อยู่ที่เราและโปรดิวเซอร์ด้วยว่าจะเอายังไง แต่พอดีมันเป็นพี่น้องกันเลยคุยกันง่าย

DT : ตอนนี้พี่มีวิธีฝึกยังไงบ้างครับ ?
พี่เล็ก : ตอนนี้พี่ฝึกยังไงก็ได้ ให้อยู่กับล่องกับลอยมากที่สุด เพราะว่าพี่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเริ่มเล่นมากเกินไป กับการการเล่นดนตรี ผมเข้าใจว่า คนที่เป็นมือกลองเนี่ยะพอเก่งมันก็อยากที่จะเล่น ใครฝึกอะไรมามันก็อยากที่จะเล่น แต่การเล่นดนตรีโดยที่ เล่นแบบไม่ถูกจังหวะไม่ถูกที่ไม่ถูกเวลา มันทำให้คนเล่นด้วยไม่แฮปปี้ คือบางทีคนอื่นเขาโซโล่อยู่แล้วเราก็ไปเล่นสวนเขา มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา ตอนนี้หลักๆที่ฝึกคือ ฝึกเล่นแบบ sub ก่อน คือเล่นยังไง สนับสนุนเขายังไง โซโล่ไม่ค่อยได้ฝึกเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นการฝึกควบคุมตัวเองให้ใจเย็นมากๆ ในเรื่องของเทคนิกก็จะฝึกว่าทำยังไงให้ตัวเองเบาลงแต่ยังเร็วอยู่เหมือนเดิม

DT : ในส่วนของมือกลองที่พี่เป็นฮีโร่ เอาที่เป็นคนไทยก่อนก็ได้ครับ ?
พี่เล็ก : คนไทย ผมว่าพี่มันต์นะ เพราะพี่มันต์เป็นคนแรกที่ผมเห็น คือผมไม่เคยเห็นใครเล่น เบสดรัม 2 ใบเลยนะ แล้วผมมั่นใจเลยนะว่าพี่มันต์เป็นคนแรกที่เล่นแบบนี้ในเมืองไทยนะ แล้วช่วงนั้นพี่มันต์กำลังวัยรุ่นเลย โห!! แกเล่นดุมาก ผมดูแกเนี่ยะ ผมยังเด็กอยู่เลย

DT : แล้วเมืองนอกแหละครับ ?
พี่เล็ก : มีหลายคนเลยนะ แต่ที่สุดๆเลยเนี่ยะคือ Steve Gadd นอกนั้นก็คือ Steve Smith,Omah Hakim ,Billy Cobham

DT : พอพี่พูดถึง Billy Cobham จุดเด่นของเขาคือการตีได้ทั้ง 2 มือ การเล่นอย่างนี้มือกลองควรฝึกกันหรือเปล่าครับ ?
พี่เล็ก : ผมว่าไม่จำเป็นนะ คือเขาเป็นคนถนัดซ้าย ซึ่งเขาประสบปัญหากับการไปเล่นกับคนอื่นๆ เพราะคนอื่นๆเขาถนัดขวากันหมด แกก็เลยไปฝึกขวาด้วย แล้วเขาก็ทำได้ เลยทำให้เขาเล่นได้ทั้ง 2 มือ ขาทั้ง 2 ข้างก็เล่นได้หมดเลย

DT : น่าจะเป็นเรื่องของตัวบุคคลมากกว่า ?
พี่เล็ก : ใช่ครับ แต่ผมชอบเขาอย่างนึงนะ ตอนที่เขามาเล่นที่บ้านเรา ชอบที่สุดเลยคือ เขาเล่นไปเพลงแรก แล้วกระเดื่องหลุด แต่มือเขาตีซ้ายอยู่นะ ด้วยความที่เขาเป็นโปรเนี่ยะ เขายกขาข้างซ้ายมาเหยียบแทน คือเขาใช้เป็น double pedal แล้วไม่มีสีหน้าของความตกใจ ไม่มีสีหน้ากังวลหรือโกรธ,โมโหหรืออะไรเลย คือเขาแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยตัวเองไง แล้วก็ไม่รู้ว่าจะหันไปบอกใครด้วย คือต้องต้องเล่นเพลงนี้ให้จบก่อนแล้วค่อยจัดการทั้งหมด แต่พอดีมีลูกทีมเห็นซะก่อนก็เลยเข้ามาช่วยจัดการ

DT : แล้วในเรื่องของไลน์กลองเพลง T-Bone ที่เป็น ส่วน 6/8 ในช่วงท่อนโซโล่พี่คิดยังไงครับ ?
พี่เล็ก : ใช่ๆ เป็น 6/8 แต่ตอนเล่นสดเล่นอีกอย่างนะ ในซีดีตียากกว่า ผมคิดไลน์นี้ให้มันเป็นเหมือน against เข้าไป เหมือนเอา 3 พยางค์เข้าไปใส่ใน 4/4 ตรงนั้นอีกที แต่พอมาเล่นสดแล้วเนี่ยะบางทีถ้ามาตีแบบนั้นแล้ว ด้วยเรื่องของซาวด์ พอมือเบสเขาไม่ได้ยินเราแล้วเนี่ยะ โอกาสที่มันจะผิดกันมันเยอะ ผมก็เลยต้องตีเป็นอีกอย่าง เพราะเคยลองแล้ว ผลคือล่ม (หัวเราะ)

DT : พี่มีเรื่องไหนที่คิดจะทำต่อไปหรือเปล่าครับ ?
พี่เล็ก : ถ้าในเรื่องของการฝึก ผมก็ยังต้องฝึกอยู่ตลอด ฝึกการฟัง การที่เราเป็นนักดนตรีเล่นแจ๊สไม่ได้หมายความว่าเราเก่งที่สุดนะ หรือจะเล่นร็อก เล่นเร็กเก้แล้วจะเก่งที่สุด มันไม่ใช่ ดนตรีทุกอย่างมันมีการเรียนรู้อยู่ตลอด แล้วดนตรีมันเปลี่ยนไปทุกวัน เราจะต้องศึกษาแล้วก็เรียนรู้ ดนตรีใหม่ๆที่เข้ามา สมมติว่าช่วงนี้มันมี hip hop เข้ามา เราก็ต้องฝึกมัน แล้วก็ต้องเล่นด้วย พวกดนตรีอย่างอื่นที่เราไม่ได้เล่นด้วย แต่สิ่งที่อยากจะทำก็คือ ยากทำงานของตัวเองซึ่งเป็นละตินแจ๊ส ดนตรีฟั้งก์ ดนตรีละตินที่ตัวเองชอบ อะไรอย่างนี้

DT : แล้วจะได้มีโอกาสได้ฟังกันเมื่อไหร่ครับ ?
พี่เล็ก : ก็ทำอยู่ครับ มีความเป็นไทย ความเป็นป็อปอยู่บ้าง ถ้าเทียบเวลาแล้ว ก็จะออกกับ Love Is ประมาณต้นๆปี มันเป็นดนตรีอัฟริกัน แต่ถ้ามองแล้ว มันเป็นอัฟริกันทั้งหมด คนบ้านเราก็อาจจะไม่ชอบ คนบ้านเราชอบฟังอะไรที่มันสนุกๆ เต้นได้ ก็เลยต้องทำออกมาโดยมีความเป็นไทย และความเป็น อัฟริกันเข้ามาผสมกัน

DT : กับพวกจังหวะของ Afro Beat อะไรพวกนี้ พี่มีวิธีการฝึกยังไงครับ ?
พี่เล็ก : อันนี้อย่างนึงเลยนะ พวกจังหวะ ซองโก้ ,ละติน อะไรพวกนี้ ผมไม่เคยฝึกเลยนะ ผมตีได้เลย ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม ผมเข้าใจว่า ผมได้มันมาจากตอนที่ตีบอลลูม ,ละตินในสมัยนั้น ผมว่าผมได้มาจากสมัยนั้นมากกว่ามันมีทุกจังหวะเลย แล้วมันมีอยู่ช่วงนึง ผมทำงานอยู่ในห้องอัดเสียง อัดลูกทุ่ง อัดหมอรำ พวกจินตหรา อะไรพวกนี้ ตอนนั้นอัดแบบเยอะมาก สนุกมาก

DT : กับเรื่องของอุปกรณ์ ตอนนี้พี่ใช้อะไรบ้างครับ พี่เป็น Endorser ให้กับ ธีระมิวสิคอยู่ด้วย ?
พี่เล็ก : ใช่ครับ!! ผมใช้ Zildjian อยู่ ก็ทั่วไปเลยนะ ก็มี Bosphorus ด้วยที่ใช้ ผมเป็นพรีเซ็นเตอร์ของ Zildjian แต่ว่าถ้ามันมีใบอื่นที่ผมชอบอยู่ด้วยผมก็ใช้นะ ถ้าเสียงมันถูกใจผมใช้เลย

DT : แล้วแต่ละงาน พี่ต้องเปลี่ยนชุดในการเล่นด้วยหรือเปล่าครับ ?
พี่เล็ก : มีครับ เปลี่ยนเลยแต่ละงาน

DT : กับงานที่เล่นกับวง อานนท์แจ็สแบนด์ก่อนก็ได้ครับ ?
พี่เล็ก : ผมจะใช้ Crystal Blue กับ K Zildjian เป็น K Section แล้วก็ Ride ก็เป็น K เนื่องจากความความดาร์คของ Ride เนี่ยะ มันจะเข้ากับดนตรีที่เล่นอยู่ Splash ผมจะไม่ค่อยใช้ Clash ผมจะใช้เป็น 16,18 ส่วนของ T-Bone เนี่ยะผมจะใช้ Section เป็น Bosphorus คือมันค่อนข้างจะดิบนิดนึง Rideก็จะไม่ให้มันเป็นตัวมากนัก ส่วนของแมวเนี่ยะพี่จะใช้ Zildjian ที่เป็น Z หมดเลย เคยเอาอย่างอื่นไปใช้นะ แต่เอาไม่อยู่ แต่ Z เนี่ยะมันหนานะ ต้องใช้แรงเยอะ ถ้าตีด้วยน้ำหนักธรรมดา เสียงมันจะไม่ออก มันต้องตีแรงจริงๆ เสียงมันถึงจะกระจายออกมา

DT : แล้วไม้หละครับ ?
พี่เล็ก : Regal Tip 5A ผมใช้อันเดียวเลย จะตีงานไหนก็นี่เลย

DT : Snare หละครับ ?
พี่เล็ก : snare ตอนนี้มี 2 ใบ Noble&Cooley เป็น Solid Shell
ขนาด 4 นิ้ว เป็น piccolo แล้วก็ Pork Pie 5 นิ้วครึ่ง เป็นรุ่นธรรมดาเลย ไม่ใช่รุ่นแพง คืออย่างที่บอก ว่าพี่ชอบปรับแต่งครับ พอมันโดนปุ๊ปพี่ก็จะรู้เลยว่า snare ใบนี้มันเหมาะกับหนังประเภทไหน แต่ละใบเนี่ยะพอเปลี่ยนหนังแล้วเสียงมันจะไม่เหมือนกันนะ เสียงก็จะต่างกัน อย่าง snare ผมใบนี้ก็จะใช้อย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจาก Ambassador Coated

DT : คำถามสุดท้ายแล้วครับ พี่มีอะไรอยากฝากถึงน้องๆที่เล่นกลองบ้างครับ ?
พี่เล็ก : เด็กเดี๋ยวนี้ค่อนข้างเก่งเยอะ หลายๆคนเก่งทีเดียว อยากให้ฟังกันเยอะๆ ฟังเพลงให้หลากหลาย แล้วก็ฝึกซ้อมอย่างที่เคยบอกไว้ว่ามีอยู่ 3 อย่าง ที่คือ “ฟัง,ฝึก,เล่น” ฟังมากๆ ฝึกมากๆ และก็ต้องเล่นด้วย ซึ่งมันเป็นวิธีที่ผมทำมาตลอดเลยครับ

สัมภาษณ์สุดยอดมือกลองกระเดื่องคู่ เลาะห์ อิทธิชัย บัวแก้ว
Click Here
สัมภาษณ์ น้าเป้า คาราบาว พร้อมสาธิตการเล่นในแบบต่างๆ
Click Here
Ari Hoenig สุดยอดมือกลองแจ๊สรุ่นใหม่
Click Here
Simon Phillips มือกลองผู้เล่นได้แบบ all-around
Click Here
Steve Smith หนึ่งในเทพเจ้ามือกลอง Jazz
Click Here
สัมภาษณ์ พี่เล็ก ทีโบน
Click Here
อ่านทั้งหมด Click ที่นี่

any comments, please e-mail   webmaster@drummerthai.com)
© All rights reserved 1999 - 2010. All contents in this web site are the properties of www.drumthai.com and Saratoon Suttaket